ที่เค้าเรียกกันว่า "แปลเอกสารแบบมี NAATI" มันคืออะไรเหรอ?
NAATI หรือ National Accreditation Authority for Translators and Interpreters เป็นองค์กรของออสเตรเลียที่ออกใบรับรอง (และแสตมป์/ตราประทับในกรณีนักแปล หรือบัตรประจำตัวในกรณีล่าม) ให้กับล่ามและนักแปลที่สอบผ่าน NAATI จะเป็นผู้ออกข้อสอบและตรวจข้อสอบโดยมีมาตรฐานที่สูงมาก นอกจากจะต้องสอบผ่านและได้ใบรับรองแล้ว ล่ามและนักแปลยังต้องพิสูจน์ตัวเองโดยการทำงานด้านนี้และเข้ารับการอบรมให้ได้คะแนนตามที่ทาง NAATI ต้องการเพื่อที่จะขอต่ออายุใบรับรองหลังจาก 3 ปี เพราะใบรับรองจะมีอายุแค่ครั้งละ 3 ปีค่ะ
บางคนเรียก NAATI ว่าเนติ ซึ่งมีความหมายออกไปทางกฎหมายและเข้าใจผิดว่าการแปลแบบ NAATI เหมือนกับการรับรองทางกฎหมายประเภทหนึ่ง เคยมีแบบเข้าใจผิดด้วยว่านักแปลที่ได้รับการรับรองจาก NAATI ทำหน้าที่เหมือน JP ในการรับรองเอกสาร นักแปลไม่ได้มีบทบาทหรือความสามารถในการรับรองเอกสาร แสตมป์ที่เราลงตราประทับไปเป็นการรับรองว่าเราแปลเอกสารนี้จริงจากต้นฉบับที่ให้มาและรับรองว่านักแปลได้สอบผ่านกับ NAATI มาแล้วค่ะ
สรุปคือ แปลเอกสารแบบมี NAATI คือการแปลเอกสารกับนักแปลที่สอบผ่านและได้ใบรับรองจากองค์กรที่ชื่อว่า NAATI มาค่ะ
ส่วนในตราประทับจะมีการลงวันที่แปล เลขประจำตัวนักแปล และวันหมดอายุของการรับรองจาก NAATI ไม่ใช่วันหมดอายุของเอกสารนะคะ! งานแปลที่มี NAATI ใช้ได้ตลอดไปไม่มีวันหมดอายุค่ะ เกดจะเขียนระบุไว้ด้านล่างของงานแปลเลยว่าเอกสารนี้ใช้ได้ตลอดไป ที่ผ่านมาเคยมีทางการของออสเตรเลียเข้าใจผิดว่าเอกสารที่แปลมาหมดอายุแล้วเพราะมันผ่านวันที่นักแปลได้รับใบรับรองใบเดิม อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรทราบไว้นะคะ
แปลเอกสาร NAATI แปลเต็มหรือแปล extract ดี แล้วเราต้องแปลแบบไหนเนี่ยข้อดีข้อเสียแต่ละแบบมีอะไรบ้าง
การแปล extract คือการแปลสาระสำคัญ จะแปลเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ส่วนข้อมูลไหนเกี่ยวข้องนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราจะเอาไปใช้ทำอะไรกับหน่วยงานไหน ยกตัวอย่างการแปลใบเกิดเพื่อสมัครซิติเซ่น ถ้าแปล extract เราจะไม่ต้องแปลน้ำหนักเด็กที่เกิด ข้างขึ้นหรือข้างแรม ปีชวดหรือปีจอ นายทะเบียนชื่ออะไร คือทางการเค้าไม่ต้องการรู้ข้อมูลตรงนี้ค่ะ เวลาที่เกิดก็ไม่ต้องแปล (เค้าไม่ได้เอาไปผูกดวง ) การแปลแบบ extract จะมีการจัดรูปแบบใหม่ให้อ่านง่ายและมักมีการแยกข้อมูลของตัวเอกสารและเจ้าของเอกสารให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น
ส่วนการแปลเต็มชื่อมันก็เป็นการอธิบายไปในตัวโดยปริยาย แปลเต็มคือแปลทุกตัว มีการคงรูปแบบเดิมเหมือนต้นฉบับหรือให้คล้ายที่สุด มีการระบุทุกอย่างที่ประกฏในเอกสาร เช่น การแก้ การขีดฆ่า ลายเซ็นต์ ตราประทับ ฯลฯ
ข้อดีของการแปลแบบ extract คือ
1. ราคาถูกกว่า
2. รูปแบบอ่านง่าย
3. ข้อมูลสำคัญอยู่ครบ ไม่ต้องเสียเวลากับข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้อง
4. เลือกเน้นข้อมูลที่ต้องการเพิ่มเติมได้
ข้อเสียของการแปลแบบ extract คือ ไม่เป็นที่ยอมรับของทุกหน่วยงาน (โดยเฉพาะที่เมืองไทย)
ข้อดีของการแปลเต็ม
1. ข้อมูลครบทุกอย่าง
2. ทุกหน่วยงานยอมรับ ไม่มีข้อจำกัดในการใช้งาน
ข้อเสียของการแปลเต็ม คือ ราคาแพงกว่า
องค์กรหรือหน่วยงานในออสเตรเลียส่วนใหญ่ยอมรับ extract โดยเฉพาะอิมมิเกรชั่นหรืออิม (กรมตรวจคนเข้าเมือง) เพราะฉะนั้นใครสมัครวีซ่าโดยยื่นในออสเตรเลียหรือสมัครซิติเซ่นสามารถแปลแบบนี้ได้ แต่ถ้าเป็นเอกสารแปลสำหรับประกอบใบสมัครพาสปอร์ต ทางสำนักงานพาสปอร์ตระบุไว้ในเวปไซต์เค้าว่าต้องแปลเต็มค่ะ
ส่วนเราจะเลือกแปลแบบไหน นอกจากดูว่าใช้กับหน่วยงานไหนแล้ว แนะนำว่าให้ตัดสินใจโดยการมองในระยะยาวค่ะ ถ้าอนาคตคิดว่าเราจะใช้เอกสารตัวนี้อีกและอาจใช้กับที่เมืองไทย (หรือประเทศอื่นที่เราไม่แน่ใจว่าเค้ายอมรับแบบไหน) แปลเต็มจะปลอดภัยที่สุดค่ะ แต่ถ้าจะใช้แค่กับอิมหรือใช้ครั้งเดียว แปล extract ก็พอค่ะเพราะประหยัดงบด้วย
งานแปลเอกสาร NAATI ไม่มีวันหมดอายุ
ถ้าเจ้าหน้าที่คนไหนบอกเราว่าหมดอายุแล้วให้เราไปแปลใหม่ เราสามารถอธิบายได้ตามนี้เลยค่ะ อย่าไปฟังเค้านะคะเพราะว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและเราจะเสียเงินเพิ่มโดยใช่เหตุค่ะ ขอนำกรณีที่เกิดขึ้นมาเล่าให้ฟังนะคะ
มีลูกค้าติดต่อมาให้แปลใบเกิดและใบเปลี่ยนชื่อแบบมีตราประทับ NAATI เพราะต้องสมัครพาสปอร์ตให้ลูก เค้าเล่าว่าไปที่ไปรษณีย์แล้วโดนเจ้าหน้าที่สั่งว่าให้แปลใหม่ แถมมีการต่อท้ายด้วยว่า "แล้วใบนี้ที่แปลมาก็ไม่ใช่ตราประทับ NAATI ด้วย" ทำให้ลูกค้าทั้งคุณแม่และคุณลูกถึงกับยืนงงเลยค่ะ
เกดอธิบายไปว่า นี่คือความเข้าใจผิดและไม่รู้ข้อมูลของพนักงานเพราะว่างานแปลมีตราประทับ NAATI ไม่มีวันหมดอายุค่ะ แปลครั้งเดียวสามารถใช้ได้ตราบชั่วนิรันดร์ นี่เป็นสิ่งที่เวปไซต์ของทางองค์กร NAATI เองก็ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนดังในรูปภาพนี้ที่ไฮไลน์สีม่วงค่ะ
แล้วเพราะอะไรเจ้าหน้าที่มักเข้าใจผิด ไม่ใช่แค่ไปรษณีย์นะคะ พี่อิมก็เคยเข้าใจผิดค่ะ เพราะว่าแสตมป์ที่ NAATI ออกให้นักแปลแต่ละคนจะมีชื่อนักแปลและเลขทะเบียนของนักแปลซึ่งมาพร้อมกับวันหมดอายุ (ดูที่ไฮไลท์สีเขียวในรูปเลยค่ะ) การรับรองนักแปลและล่ามของ NAATI นั้นต้องต่ออายุทุก 3 ปีค่ะ เพราะฉะนั้นแสตมป์จะมีวันหมดอายุตามวันครบกำหนด 3 ปี (บัตรประจำตัวก็มีวันหมดอายุในกรณีล่าม) แต่อันนี้ไม่เกี่ยวอะไรเลยก็อายุงานแปล แต่เจ้าหน้าที่มักมองวันที่ตรงนี้และเข้าใจผิดแล้วสั่งคนไปแปลใหม่
ส่วนเรื่องที่พนักงานไปรษณีย์พูดกับลูกค้าว่าที่เค้าแปลมาไม่มี NAATI นั้นน่าจะเป็นเพราะว่าพนักงานคนนั้นอาจจะไม่เคยเห็นแสตมป์แบบใหม่ แสตมป์ NAATI แบบเก่าจะเป็นวงกลมและมีการสะกดคำว่า NAATI อย่างชัดเจน แต่แบบใหม่จะเป็นสี่เหลี่ยมแบบในรูปและคำว่า NAATI จะอยู่ในโลโก้มุมซ้ายบนซึ่งเขียนเบียดๆ กันและเห็นไม่ชัดเท่าแสตมป์แบบเก่าค่ะ
แล้วอย่างนี้จะทำอย่างไรดี เกดแนะนำนะคะ เก็บลิงค์ด้านล่างนี้และเซฟรูปนี้ไว้เลยค่ะ ถ้าเจ้าหน้าที่คนไหนก็ตามบอกว่างานแปลหมดอายุแล้วสั่งเราไปแปลใหม่ให้เราเอาให้เค้าดู เค้าจะเถียงเราไม่ได้เลยเพราะข้อมูลนี้มาจากเวปไซต์ของ NAATI โดยตรงเลยค่ะ
ทำไมถึงต้องแปล NAATI? แปลเอกสารแบบมี NAATI ดีมั๊ยถ้ายื่นใบสมัครวีซ่าทีเมืองไทย?
NAATI (National Accreditation Authority for Translators and Interpreters) คือ องค์กรของประเทศออสเตรเลียที่ให้ใบรับรองกับล่ามและนักแปล ผู้ที่มีสิทธิ์เข้าสอบจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดอย่างไม่มีข้อยกเว้น การสอบจะมีมาตรฐานสูงและยากมาก อีกทั้งล่ามและนักแปลจะต้องแสดงให้ทางองค์กรเห็นว่าเรามีคุณสมบัติพอเมื่อเราต้องการต่ออายุใบรับรองทุกๆ 3 ปี ดังนั้น ทางการของออสเตรเลียจึงนิยมใช้ล่ามและนักแปลที่ได้ผ่านสนามสอบแสนโหดของ NAATI มาแล้วเพราะว่าพวกเค้าได้ผ่านการรับรองคุณภาพจากประเทศออสเตรเลียมาแล้วค่ะ
คนที่ยื่นใบสมัครวีซ่าออสเตรเลียที่เมืองไทยทางสถานทูตที่ออสเตรเลียกรุงเทพไม่ได้บังคับว่าต้องใช้นักแปลที่มีตราประทับ NAATI แต่ข้อดีของการแปลแบบมีตราประทับ NAATI แม้จะยื่นใบสมัครที่เมืองไทย คือ เราสามารถเก็บงานแปลนี้ใช้ได้ตลอดไปโดยไม่มีวันหมดอายุ (แม้ว่าใบรับรองหรือแสตมป์ของนักแปลคนนั้นอาจจะหมดอายุไปแล้ว) และจะมีประโยชน์มากโดยเฉพาะกับคนที่วางแผนระยะยาวว่าต้องการตั้งถิ่นฐานหรือย้ายมาอยู่ออสเตรเลียถาวร เช่น สมัครซิติเซ่นในอนาคต รวมถึงใครที่ต้องการมาสมัครวีซ่าตัวอื่นเพิ่มขณะที่ยังอยู่ในประเทศออสเตรเลียหรือ/และยื่นใบสมัครที่ออสเตรเลีย เพราะทางอิมที่ออสเตรเลียมักจะกำหนดว่างานแปลต้องแปลแบบมีตราประทับ NAATI ค่ะ
มีลูกค้าหลายคน(มาก)ที่ต้องแปลเอกสารตัวเดียว 2 รอบเพราะถูกอิมตีกลับเนื่องจากไม่มีแสตมป์ NAATI เลยกลายเป็นการเสียเงิน 2 ต่อ สรุปคือ ถ้าเราคิดว่าต้องใช้งานแปลนี้อีกตอนอยู่ออสเตรเลีย แปลแบบมีตราประทับ NAATI จะประหยัดเงินระยะยาวค่ะ
Comments